วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตำนานพญานาค@chaiwat

พญานาค


นาคนี้ มักเรียกกันว่าพญานาคของพวกนาค และยังมีชื่อที่เรียกกันเป็นอย่างอื่นก็มากเช่น ภุชงค์ วาสุกิ หรือวาสุกรี นาค นาคา อนันตนาครหรือเศษนาค เป็นต้น
ตามความหมายที่เข้าใจกันมาว่า นาคตัวยาวๆ อย่างงู ในบาลีลิปิกรม ว่า มีหน้าเป็นคน หางเป็นงู เป็นพวกกึ่งเทวดา เมืองที่อยู่เรียกว่า บาดาล ซึ่งเข้าใจกันว่าอยู่ใต้แผ่นดินที่เราอยู่กันเดี๋ยวนี้
ตามตำนานอุปปาติกะว่า พญานาคนี้เป็นโอรสพระกัศยปเทพบิดร และนางกัทรุเป็นมารดา บุตรของพระทักษะประชาบดี ส่วนเมืองที่อยู่ที่เรียกว่าบาดาลนั้น ตามวิษณุปุราณะ และปัทมปุราณะว่ามีถึงเจ็ดชั้น เรียงลำดับซ้อนๆ กันลงไป คือ 1อตล มีผู้ครองชื่อมหามายะ 2. วิตล ผู้ครองชื่อหาตเกศวร 3. สุตล ผู้ครองชื่อท้าวพลี 4. ตลาตล ผู้ครองชื่อมายุ 5 มหาตล ว่าเป็นที่อยู่ของพวกนาค 6. รสาตล เป็นที่อยู่ของพวกแทตย์และทานพ 7. ปาตาล นี้แหละที่เราเรียกว่าบาดาล เป็นที่อยู่ของวาสุกรีนาคราช
ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองบาดาลนี้ ในชั้นสูงๆ มีความสนุกสนานปานกับเมืองสวรรค์ และก็หาใช่ว่าจะอยู่แต่นาคพวกเดียวก็หาไม่ ยังมีรพวกแทตย์และทานพ อันเป็นเหล่ากอของพระกัศยปะกับนางทิติ ได้เป็นผู้ครองอยู่ก็หลายชั้น พวกนาคแท้ๆ คงได้อยู่ในชั้นที่ 5 กับชั้นที่ 7 เท่านั้น
นาคนี้ปรากฏในที่หลายแห่งว่า ตัวยาวอย่างงู มีหงอนเป็นอันงาม แม้แต่ในปทานุกรมก็ยังแปลไว้ว่างูหงอน ในรามายณะ พญานาคเคยทำตัวเป็นบัลลังก์ให้กับพระวิษณุบรรทมอยู่ในเกษียรสมุทร ในปางมัสยาวตาร พญานาคเคยเป็นเชือกผูกเรือของท้าวสัตยพรต หรือ พระมนูไววัสวัต ไว้กับกระโดงปลาใหญ (นารายณ์) เมื่อคราวน้ำท่วมโลก
ในปางกูรมาวตาร พญานาคก็ต้องไปเป็นเชือกพันกับภูเขามันทระ สำหรับเทวดาและอสูรดึงไปดึงมาเพื่อให้ภูเขานั้นหมุนหวังผลในการทำน้ำอมฤต
ส่วนในปางพุทธาวตาร หรือในสมัยพระสมณโคดมบรมพุทธะ ก็มีเรื่องนาคมาเกี่ยวข้องเป็นหลายคราว เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ทรงลอยถาดทอง อันนางสุชาดาถวายพร้อมด้วยมธุปายาส ณ แม่น้ำเนรัญชรา ก็ว่า ถาดนั้นได้จมลงไปอยู่เมืองนาค พญากาลภุชคินทร์ซึ่งเป็นผู้ครอง ได้ยินเสียงถาดกระทบกันก็ตื่นนอนขึ้นครั้งหนึ่ง
และครั้งที่สองเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ไม้มุจลินท์(ไม้จิก) พญานาคชื่อมุจลินท์ก็ได้มาขดตัวเป็นแท่น แล้วเพิกพังพานบังแสงแดดบังฝนถวาย ซึ่งพระพุทธรูปปางนี้เรียกกันว่าพระนาคปรก

ครั้งที่สามต่อมาอีก ว่ากันว่ามีนาคแปลงตัวมาบวชในพระพุทธศาสนา พระท่านถามนาคที่มาขอบวชมาท่านใช่มนุษย์หรือไม่ นาคตอบว่าเรามิใช่มนุษย์ เป็นนาค แต่มาเพื่อจะขอบวชเพื่อบำเพ็ญบุญ เราจึงได้มีการบวชนาค
ในอดีตกาลทศชาดกปางภูริทัตต์ก็ว่า องค์พระโพธิส้ตว์ของเรายังได้เคยถือกำเนิดเป็นนาคชื่อทัตตกุมาร บิดาชื่อ ธตรฐ เป็นพญานาค มารดาชื่อ สมุททชา เป็นมนุษย์ คือ เป็นธิดาท้าวพรหมทัต กรุงพาราณสี ได้ขึ้นมาบำเพ็ญศีลบนฝั่งแม่น้ำยมุนา แล้วถูกอาลัมพายน์หมองูจับเอาตัวไป
พญานาคยังเคยเป็นสังวาลของพระอิศวร และเคยเป็นลูกศรของอินทรชิต ที่แผลงไปมัดพวกพระราม พระลักษมณ์ ทั้งหลายที่สาธกมานี้ ดูล้วนแต่ว่านาคมีตัวยาวๆ อย่างงูทั้งนั้น ในเวลาขึ้นลงก็ชำแรกแทรกดิน
คำว่า "นาค" ในบาลีลิปิกรม และ ปทานุกรม แปลไว้ว่า ประเสริฐ ในสมัยสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ ได้เคยทรงไว้ในพระพุทธประวัติ โดยเข้าพระทัยว่านาคไม่ใช่งู และคงจะเป็นพวกที่นับถือเทวรูปนาคปรก ได้แก่ พวกชฎิลกัสสปะสามพี่น้อง บางท่านเห็นว่า นาคนี้เก่งที่สุด ถึงกับปรากฎว่าเอาสตางค์โยนลงไปในน้ำ พวกนี้สามารถที่จะว่ายและดำไปหยิบสตางค์ชูให้ดูได้ก่อนที่สตางค์จะจมลงถึงท้องทะเล มีอยู่ในนครศรีธรรมราช ปัตตานี ที่เขาเรียกกันว่าชาวน้ำ หรือชาวเล ภาษามลายู เรียก ชะลัง
ส่วนภาพและรูปแกะสลัก รูปหล่อ รูปปั้น ที่ได้เคยเห็นมา มีทั้งเป็นงู และเป็นคน แล้วประกอบ
ในพงศาวดารเขมร กล่าวว่าในราวพุธศตวรรษที่ 6 พระทองเป็นโอรสกษัตริย์เขมร ก็เคยได้แต่งงานกับพระธิดาพญานาค มีนามว่า นางทาวดี ถึงมีโอรสด้วยกัน ชื่อพระเกตุมาลา และได้สืบกษัตริย์ครองประเทศเขมรกันต่อๆ มา อีกสามราชวงศ์กษัตริย์
กระทั่งถึงสมเด็จพระอุทัยราชก็มีมเหสีเป็นนาค คราวนี้ออกลูกครั้งแรกเป็นไข่ เอาไปทิ้ง คือฝังทรายไว้ ถึงคราวนายคงเคราซึ่งเป็นส่วยน้ำ นำน้ำในทะเลชุบศรเมืองลพบุรไปส่ง ได้พบไข่นี้ฟักเป็นคน จึงเก็บมาเลี้ยงไว้ ให้ชื่อว่านายร่วง แต่นางนาคตนนี้ออกลูกครั้งที่สอง หาตกเป็นฟองไม่ เป็นมนุษย์ทีเดียว โอรสผู้นี้ภายหลังมีนามว่าพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ได้เป็นกษัตริย์เขมรที่มีเดชานุภาพมาก
ท้าววิรูปักษ์ เป็นมหาราชของพวกนาค เป็นโลกบาลครองทิศปัจจิม ด้านทิศตะวันตก มีปราสาททิพย์อยู่บนยอดเขายุคนธรทางด้านตะวันตก มีพาหนะเป็นช้างทิพย์ชื่อ โสมนัส เหล่านาคจะคอยขับกล่อมบำเรอด้วยดนตรีทิพย์อยู่ตลอดเวลา พระโอรสมีมากถึง 91 องค์
จากหนังสือเทวกำเนิด พระยาสัจจาภิรมย์ฯ (สรวง ศรีเพ็ญ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น